แผ่นเสียง

แผ่นเสียง (Vinyl records)
แผ่นเสียงในเมืองไทยหยุดการผลิตไปในปี 2535...ดอนผีบิน ออกอัลบั้มแรก ปี 2536 !!
หวุดหวิดชนิดที่วันนี้จึงต้องย้อนยุคกลับไปในรอบ 25 ปี ! และในแบบฉบับที่ต้องมีคือ งานชุดที่ 1-2 ซึ่งเป็นงานที่คลาสสิคสุดของวง ที่ตอนนั้นมีความมุ่งหวังที่จะนำเสนอผลงานออกไปสู่ผู้ฟังโดยปราศจากความหวังว่าจะได้เงินทองจากมัน มันจึงเป็นดนตรีที่สดใหม่ประกายด้วยความมุ่งหวัง เต็มไปด้วยพลังที่ไร้การมองเรื่องผลประโยชน์ภายในวง ทุกคนตั้งใจอย่างเต็มที่ ถึงแม้มันจะไม่สมบูรณ์แบบในส่วนการบันทึกเสียงและการ Perform แต่ขอให้เชื่อมั่นได้เลยครับว่า มันคือสิ่งที่มาจากหัวใจของเราจริงๆ

ในโอกาสที่ผมย้อนรำลึก 25 ปี ก็ตั้งใจจะทำหลายๆอย่างรวมทั้งเจ้าตัว"แผ่นเสียง"นี้ด้วย เคยโพสเกริ่นไปตั้งแต่ปี 2561 แล้ว...แต่เนื่องด้วยในตอนนั้น การผลิตต้องส่งไปทำต่างประเทศทั้งหมด ใช้เวลาค่อนข้างนานเพราะมี order จากทั่วโลก จึงต้องผ่านคนกลางในการติดต่อและสนนราคาขั้นต่ำในการผลิตก็สูงเลยล่ะ เมื่อมาเทียบกับยอดขายวงใต้ดินแล้วขาดทุนแน่นอน

จนมามีข่าวดี ที่กลุ่มคนรักในด้านนี้ ลงทุนตั้งโรงผลิตยกเครื่องปั้มมาไว้ที่บ้านเรา 1 เครื่อง เพื่อผลิตแผ่นจำนวนน้อยๆสำหรับเป็นที่ระลึกได้ ทำให้การผลิตติดต่อคุยกันง่ายขึ้น (แต่ยังต้องส่งไปทำ master lacguer/stamper ที่ต่างประเทศ) วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะย้อนสื่อเสียงชนิดนี้กลับไปสู่ยุค Analog ซึ่งมีแฟนเพลงผู้ฟังกลุ่มหนึ่งอยากมีใว้ครอบครอง เก็บไว้เป็น collection

ในการผลิต เพื่อความแน่นอนจึงต้องให้มีการจองล่วงหน้าไว้ และได้ทำซีดีซึ่งเป็นสื่อ digital ตีคู่ไปด้วยมอบให้ฟรีสำหรับคนที่จองแผ่นล่วงหน้า (มีจำหน่ายแยกสำหรับคนที่ไม่ได้เล่นแผ่นเสียง)

ทำไมต้องแผ่นเสียง?
มันเป็นสื่อระบบ Analog ยุคแรกๆของการ Play back ซึ่งคนที่เคยเล่นเคยฟังก็จะชอบน้ำเสียงของมัน และมันมีเสน่ห์การเล่นแบบยุคปัจจุบันเทียบไม่ติด ไม่สามารถเปรียบปรานกันได้ในเรื่องอรรถรส มันเป็นเรื่องความสุนทรียภาพในการฟัง ที่เราต้องบรรจงวางหัวเข็มลงร่องเสียงบนแผ่นไวนิลเพื่อให้มันสั่นตามรอยหยักร่องของแผ่น และเกิดคลื่นเสียงไฟฟ้าขึ้นมา ก่อนที่มันจะถูกขยายออกลำโพงเข้าสู่รูหูเรา มันเป็นสิ่งอัศจรรย์กับสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นมา เพื่อให้ดนตรีที่เราชอบเป็นอาหารหู ดังนั้น มันจึงไม่ใช่แค่การฟังแต่มันเป็นความอิ่มเอิบทางจิตใจที่คนเล่นแผ่นเสียงเท่านั้นที่รู้ดี

ต่อมาก็สู่ยุคเทปคาสเซ็ทซึ่งเป็นแถบแม่เหล็ก(เป็น Analog เหมือนกัน) ก็ทำให้มีความสะดวกขึ้น พกพาไปไหนมาไหนได้ และกระโดดเข้าสู่ระบบ Digital แผ่นซีดี....งานเพลงที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็จะผลิตเป็นเทปคาสเซ็ทและซีดีสำหรับฟัง แต่ก็มีการผลิตแผ่นเสียงย้อนสำหรับผู้ฟังที่ชอบฟังจากแผ่นเสียงด้วย



การผลิตแผ่นเสียง ขึ้นอยู่กับจำนวน มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแบบ fix cost เลยคือ
ค่าทำ Mastering ใหม่(สำหรับแผ่นเสียงโดยเฉพาะ เนื่องจากมีช่วงการตอบสนองความถี่แคบกว่าระบบดิจิตอลและมี Dynamic range หรือการสวิงของช่วงความดังที่จำกัด เนื่องจากการอ่านจะใช้หัวเข็มสั่นตามร่องเสียง)

การทำ Lacguer disc ก่อนจะนำไปปั้มเป็น Stamper ต้องส่งไปทำที่ต่างประเทศเพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ หลังจากนั้นก็นำ stamper มาปั้มลงแผ่น Vinyl ซึ่งตอนนี้สามารถปั้มได้ที่บ้านเรา

ปั้มทีละแผ่น การผลิตก็จะปั้มอกกมาเป็นแผ่นทีละแผ่นโดยควบคุมด้วยมือ มีการตรวจสอบคุณภาพ
ในเรื่องสีของแผ่น ปัจจุบันเริ่มมีหลากหลายโดยการผสมสีเข้าไปในก้อนไวนิลแล้วใช้เทคนิคทำให้เกิด Texture ต่างๆ ซึ่งแต่ละแผ่นออกมาลายก็จะไม่เหมือนกัน แต่แผ่น Vinyl สีดำก็จะให้เสียงดีที่สุด และคนที่หูไวพิเศษ ก็จะเชื่อว่า แผ่นที่ปั้มออกมาแรกๆก็จะดีกว่าแผ่นที่ปั้มออกมาหลังๆ เพราะบล๊อคจะสึกไปเรื่อยๆจากการปั้มจำนวนเยอะๆ การผลิตแผ่นเสียงจึงเป็นงาน Hand made ที่เป็นศิลปะจริงๆ ซึ่งหลังได้แผ่นที่ปั้มออกมา ก็จะต้องนำไปฟังเช็คกันอีก(QC)....


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้