บันทึกการเดินทางของ"ดอนผีบิน"ฉาก-1

ดอนผีบิน ฉาก 1
ปี 2536 อัลบั้มที่ 1 “โลกมืด
 
Cassette made of first "Dark World " ล้อตแรกเสียงไม่ดีเพราะใช้เครื่องอัด Caseete Deck หลายๆตัวพ่วงกัน
ในที่สุดอัลบั้มชุด "โลกมืด" ก็เป็นรูปเป็นร่าง
โดยได้ทาง Roxx Records เป็นผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ส่งข่าว มี Z Rock (501)ผลิตเทปและวางจำหน่าย ในช่วงที่ประชาสัมพันธ์กันไปโดยได้ลง Ad หนังสือ The Quiet strom 1 หน้า โอกาสเหมาะเจาะก็เดินทางมา เมื่อ Metallica จะมาเยือนเมืองไทย ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ในวันที่ 15 เม.ย. 2536 ซึ่งชาวร็อคทั้งหลายต้องมารวมพลกันที่งานนี้แน่ๆ ทีมงานจึงได้เตรียมเทปล๊อตแรกไปโปรโมทและลองขายที่หน้างาน 1,000 ม้วนแรก ในงานผู้จัดงานห้ามนำสินค้าไปขายด้านในก่อนเข้างาน จึงถูกไล่ออกมาจากด้านใน......ที่ข้างถนนก่อนเข้าประตูสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง หน้างานคอนเสิร์ต Metallica จึงพบโต๊ะพับก๋วยเตี๋ยววางเทปของดอนผีบินอย่างเดียว 10 ม้วน นักดนตรีนั่งพื้นสนามซดเบียร์กันข้างๆโต๊ะ ! พร้อมด้วยกำลังสนับสนุนรถยนต์ติดเครื่องเสียงกระหึ่มแบบดิสโก้เทคจอดอยู่ข้างถนน เปิดเพลงดอนผีบินเวียนวน ทำเอาทีมงานของ Metallica ต้องเดินออกมาดูและค้อนแบบแปลกใจ ! เพราะนึกว่ามีคนแอบเอางาน Metallica มา copy ขาย และเท่าที่ฟังมันหนักหน่วงพอกัน(ฮา!) เพียงแต่เสียงของเราเน่อและแปร่งๆกว่า ! วันนั้นต้องขอบคุณแฟนเพลงคนไทยทุกท่านที่อุดหนุนเทปดอนผีบิน ไปจนหมด ! หลังนั้นก็ได้มีวางจำหน่ายตามร้านต่างๆ แบบใต้ดินใน กทม. โดย Z Rock Marketing
เพลงของดอนผีบิน สวนกระแสเพลงดาราและได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงร๊อคที่เบื่อเพลงตลาดในขณะนั้น จนได้รับกล่าวขานจากสื่อมวลชน กลายเป็นการจุดกระแสวงการเพลงร๊อคใต้ดินของเมืองไทยครั้งใหญ่ตั้งแต่นั้นมา
 
"Dark World" Cassette reproduction by ONPA and CD by BBM
หลังจากนั้น เทปอัลบั้มชุดนี้ได้ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ โดยโรงงานมาตรฐาน พร้อมกับเปลี่ยนปกใหม่เป็นโทน 2 สี ผลิต-วางจำหน่ายกว้างกว่าเดิมโดย ONPA และจัดทำเป็น CD ครั้งแรกโดยบริษัท BBM.
 
 
ปี 2537 อัลบั้มที่ 2 “เส้นทางสายมรณะ”

 
หลังจากที่งานชุดแรกได้รับการตอบรับจากแฟนเพลง...ดอนผีบินก็ได้เข้าห้องบันทึกเสียงเพื่อทำอัลบั้มชุดที่ 2 ต่อทันที โดยได้นำเดโมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว มาบันทึกเสียง สมศักดิ์ ซึ่งทำงานอยู่ที่ กทม. อยู่แล้ว เป็นตัวหลักในการประสานงานกับอุกฤษณ์ในการบันทึกเสียง โดยเลือกทำงานที่เดิม คือที่ Jam Studio และ Mastering ที่ Eastern Sky การบันทึกเสียงผ่านไปอย่างไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ทำให้งานชุดนี้ออกไปอย่างตามติดกับชุด 1 เมื่อ 1 ก.ค. 2537 โดยเซ็นกับ Roxx Records และให้ Onpa Marketing เจ้าเดิมทำทั้งเทปและซีดี ออกวางขายทั่วประเทศ
 
"Donpheebin in Jam Studio making Way of Death album"
...งานชุดนี้อาจถือได้ว่าเป็น mini album เพราะมีเพลงร้องเพียง 4 เพลง บรรเลง 1 เพลงและ Sound Effect อีก 2 โดยสมคิดร้อง 2 เพลง สมบัติร้อง 2 เพลง ซึ่งสมบัติจะร้องแบบคำรามกดต่ำในเพลงสังคมบัญชาและวิมาณนรก.... ชุดนี้แนวดนตรีเปลี่ยนไปเป็นแนวที่หนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้มีเมโลดี้หวานๆแบบชุด 1 อีกแล้ว เสียงร้องได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นแบบแทรชเมทัลที่หนักขึ้นตามดนตรี สมคิดได้อัดกีตาร์ทั้งหมดในเพลง "วันนี้..พรุ่งนี้" ซึ่งสมศักดิ์ เป็นคนแต่งเพลงนี้ไว้แต่ไม่ได้ใส่เนื้อร้อง สมคิดจึงคิดคำร้องระหว่างนั้น แต่คิดได้เพียง 3 ประโยค ! ความหนักหน่วงของอัลบั้มชุดนี้ได้ รับรางวัล Reader Vote จากนิตยสาร The Quiet Storm ที่สุดฮ็อตในขณะนั้น และยังเข้ารอบรางวัลสีสันอวอร์ดสไปถึง 4 สาขารางวัล นับเป็นประวัติการณ์ที่มีวงดนตรีใต้ดินแนวเมทัลวงแรกก้าวไปสู่รางวัลสาธารณะในแวดวงดนตรีของไทย
 
"Donpheebin ใต้ดิน นั่งเช็คปกทุกใบด้วยตัวเอง"
หลังจากอัลบั้มชุดนี้ออกไป สมศักดิ์ รู้สึกว่าตัวเองเหยียบเรือ 2 แคม เพราะกลางวันทำงาน Office ผูกเนคไท กลางคืนแปลงกายเป็นศิลปิน ประจวบกับมีครอบครัวและมีลูกอายุ 7 เดือน จึงได้ตัดสินใจลาออกจากงาน ย้ายกลับเชียงใหม่เดินสายดนตรีอย่างเต็มตัว ส่วนสมบัติก็ได้ลาออกจากราชการครู...สมคิด ก็เดินตามพี่ๆ ลาออกจากงาน ...เส้นทางสายมรณะ.....ข้างหน้ากำลังจะเกิดขึ้น !
 
 
ปี 2538 อัลบั้ม 3 “อุบาทว์ -อุบัติ”

 
กระแสอินดี้กำลังมาแรง….ดอนผีบินยังคงเดินหน้าต่อไปบนถนนสายใต้ดิน เนื่องจากค่ายต่างๆ ก็ยังเมินวงหนักๆแบบใต้ดิน ประจวบกับ ตอนนั้น มีหลายกลุ่มเข้ามาทำเพลงในรูปแบบนี้กันเยอะ ดอนผีบิน ได้ตั้งโปรดักชั่นของตัวเองขึ้นมาชื่อ dPb Music Production โดยจดทะเบียนบริษัทที่เชียงใหม่ ติดต่อตรงกับบริษัท BBM เป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และมีทีมงานเพื่อนฝูงมาช่วยส่งข่าวประชาสัมพันธ์ ครั้งนี้ย้ายไปทำเดโม ที่ห้องซ้อมที่สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรง ที่บ้านเกิด อ.ท่าวังผา จ.น่าน น่าน สมศักดิ์เดินทางจากเชียงใหม่ไปสมทบทำเดโม จนเดโมชุดนี้เสร็จ หลังจากนั้นทั้งหมดก็เดินทางไปบันทึกเสียงที่ กทม. ทันที โดยได้พบกับกฤษณะ วงษ์สุข ซาวด์เอนจิเนียร์ ปู คัมภีร์ จึงได้ขอให้มาช่วยดูแลงานบันทึกเสียงให้ ทั้งสามเดินทางไปพักที่หมู่บ้านแถวรามอินทรา แล้วใช้ห้อง Master Studio ซึ่งอยู่ที่นั่นทำ PreProduction ก่อนย้ายไปอัดกลอง-กีตาร์-เบสที่ห้อง Mix Studio
 
Donpheebin Ubat Ubut Pre-production at Master Studio

Drum Recording at Mix Studio

Mix down at MM Studio
 
Donpheebin Ubat Ubut Covers checking

ธุรกิจ"อุบาทว์ อุบัติ" ส่งมอบปกให้กับ BBM 
แล้วนำไป Mix ต่อที่ MM Studio ห้วยขวาง ระหว่างช่วงที่บันทึกเสียง ก็ได้ติดต่อพิมพิ์ปกเทปและซีดีไปด้วย อัลบั้มชุดนี้ ทำทั้งเทปและซีดี วางตลาดไปในวันที่ 20 ก.ย. 2538 โดย BBM
 
ปี 2539-40 อัลบั้มที่ 4 “สองฟากฝั่ง”
 
ก้าวแรกของการเข้าสังกัดค่ายเพลง
เมื่อเดินด้วยตัวเองมาถึง 3 ก้าว ก็ได้มีโอกาสคุยกับค่ายเพลงอินเตอร์อย่าง Warner Music ซึ่งได้ให้ความสนใจและเซ็นสัญญาผลิตงานเพลง การทำงานชุดนี้ ทางวงยังขอทางค่ายในการที่จะดูแลผลิตงานเองโดยไม่มี Producer แบบศิลปินค่ายใหญ่ทั่วไป ดนตรีจึงยังคงรูปแบบ Underground ไว้เต็มร้อย แต่ภายในวงก็มีการพูดคุยกันเรื่องการปรับเพลงให้ฟังได้กว้างขึ้น ซึ่งทำให้มีการผสมผสานบทเพลงที่แยกกันทำ โดยสมบัติทำไป 5 เพลง และเลือกเพลงที่สมศักดิ์ แต่งและเล่นไว้ 3 เพลง การบันทึกเสียงได้กลับไปใช้ที่ Jam Studio ที่เดิม โดยมีอุกฤษณ์ กลับมาดูแลเรื่องซาวด์เหมือนเดิม อัลบั้ม ชุดที่ 4 วางตลาดในต้นปี 2540
มีเพลงบรรเลง " Return to The Nature II " ได้รับรางวัลสีสันอวอร์ด สาขา เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม ช่วงนั้นเองทางวงจึงได้ขอค่ายจัดคอนเสิร์ทเพื่อพบปะกับแฟนเพลง แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากต้องใช้ทุนการจัดสูง แต่ในที่สุด MV Studio ก็เข้าไปช่วยจัดให้ โดยขึ้นที่หอประชุม AUA เมื่อ 10 พ.ค.2540 และได้ทำการบันทึกเสียงและบันทึกวิดีโอไว้ด้วย
 
 

Donpheebin first Live at AUA #1
ช่วงหลังคอนเสิร์ทก็ได้มีการ Mix เสียงที่อัดไว้เพื่อนำไปลงม้วนวิดีโอที่ทาง MV จะทำออกจำหน่าย
 ในปลายปี 2540 สมคิดกับสมบัติได้คุยกันและจัดทำอัลบั้มในโอกาสครบรอบ 5 ปี โดยได้ออกงาน 7 ชุด
1.อัลบั้มรวมเพลงจากอัลบั้ม 1-4 ชื่อ “ใต้ตะวันเดียวกัน” เป็นอัลบั้มรวมเพลงช้า บัลลาด
2. อัลบั้ม รวมเพลงเมทัลหนักๆ
3. อัลบั้ม บันทึกการแสดงสด ที่ AUA
(4. วิดีโอเทป บันทึกแสดงสด ที่ AUA ออกโดย MV Studio)
5. รวม Demo Hash&Raw อีก 2 ชุด (เทป Cassette)
6. Talking to you-รวมบันทึกการออกอากาศสถานีวิทยุ (เทป Cassette) 2 ชุด
 
การออกงานทั้งหมดข้างต้น สมบัติเป็นคนนำไปจัดการติดต่อกับ BBM เอง โดยไม่ได้คุยกัน
สมศักดิ์ ซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ ก็เก็บความไว้ในใจ แต่ก็ได้มุ่งไปสนใจเรื่องการบันทึกเสียงของวง โดยดูปัญหาต่างๆที่เจอระหว่างการตะลอน ระหกระเหิน เดินทางไปอัดเสียงตามห้องต่างๆ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการอัดเสียงต่อชุดไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท จึงได้กลับไปสร้าง Studio ขึ้นที่บ้านของตัวเอง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการบันทึกเสียงเอง โดยได้ทดลองนำเอาเพลงที่ไม่เข้ากลุ่มกับดอนผีบิน มาบันทึกเสียง และได้กลายเป็นงานโซโลเดี่ยว Doomed Day I “ วันล่มสลาย ” พร้อมกับตั้งสังกัดของตัวเองขึ้นมา ชื่อ Day One Records แล้วนำงาน Doomed Day ออกกับ BBM เป็นเบอร์แรกเมื่อ 7 เม.ย. 2541
 
Doomed Day I -2541
 
 
ปี 2541-42 อัลบั้มที่ 5 “สัญญาณเยือน”

ส่วนสมบัติก็ได้ทำเพลงชุดต่อไปโดยตัดสินใจที่จะบันทึกเสียงเองเช่นกันที่น่าน จึงได้คุยกับอุกฤษณ์ พร้อมทั้งซื้อเครื่องอัด digital 8 แทรค รวมกับของอุกฤษณ์อีก 1 เครื่อง ซิงค์กันเป็น 16 แทรค จึงได้ขนอุปกรณ์ไปบันทึกเสียงที่ บ้านเกิด จ.น่าน โดยสมบัติกับอุกฤษณ์เริ่มในส่วนภาคกีตาร์ และสมศักดิ์ได้เดินทางไปบันทึกเสียงกลองตามหลัง 3 วัน แล้วก็กลับเชียงใหม่ทันที ไม่ได้อยู่ร่วมด้วยในขั้นตอนต่อๆไป เนื่องจากคุยกันไม่ลงรอย หลังนั้นก็เกิดปัญหาอุกฤษณ์ขนของกลับกทม. จนขั้นตอนสุดท้าย คนภูไพร "สมบัติ" ได้มิกส์เสียงเอง และนำไปออกกับสังกัด In&On Music ในปลายปี 2541 อัลบั้มชุดนี้ มีความล้ำลึกเข้าสู่ Progressive Metal มากขึ้น แต่ซาวด์ไม่ดี แต่กระนั้น เพลงบรรเลง "ใด ใด ไร้ยืนยง" ก็ได้รับรางวัลสีสันอวอร์ด สาขา เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม อีกครั้งในปี 2542  งานชุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยก เนื่องจากสมบัติต้องการจะทำคนเดียว งานชุดนี้จึงไม่มีการไปร่วมกันประชาสัมพันธ์แม้แต่น้อย ไม่มีแม้กระทั่งถ่ายรูปหมู่ และไม่มีการไปให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เรียกว่ารับเงินกลับบ้านจบ !
 
Donpheebin Studio Nan " Drum Tracking " * Thanks to ฉั่ว วิปลาส กับกลองชุด Remo
 
Donpheebin Warning Ukrit at Nan Studio
 
 
ปี 2543 อัลบั้มที่ 6 “ปรากฏการณ์ ปรากฏกาย”
 
จุดสูงสุดของดอนผีบิน ดูเหมือนจะเดินทางมาถึง เมื่อ..มีโอกาสครั้งสำคัญในปี 2543 ที่สมคิดได้พบปะพูดคุยกับแกรมมี่ เพื่อก้าวเข้าสู่ Production แบบค่ายใหญ่ ในการที่จะนำพาบทเพลงแบบดอนผีบิน ไปสู่ Mass ซึ่งขณะนั้นในค่ายแกรมมี่เอง ก็ได้เกิดการแยกตัว ตั้งค่ายย่อยของ Producer หลายคน ซึ่งก็ได้นำเสนอไปหลายค่ายไม่ว่า มอร์มิวสิค จีนี่เรคคอร์ดส ...หนึ่งในเครือของ GMM Grammy อ้าแขนรับเข้าค่าย Giraffe Records โดยนิติพงษ์ ห่อนาค ...ค่ายเพลงใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ให้โอกาสดอนผีบินในการทำเพลงแบบกับค่ายใหญ่กับมือโปรแล้ว...แต่ทางสมบัติก็ยังขอที่จะทำเอง ไม่อยากทำงานร่วมกับคนอื่น ในที่สุดทางวงก็บันทึกเสียงโดยดูแลกันเองอีกครั้ง โดยสมบัติเป็นผู้ทำดนตรีเองทั้งหมด สมาชิกคนอื่นไม่ได้มีส่วนร่วมในการแต่งเพลงแต่ประการใด มีเพียงไปบันทึกเสียงตามที่วางไว้เท่านั้นในช่วง ก.ค.-ส.ค. 43 และอัลบั้มสำเร็จลงแบบไร้ความตื่นเต้น ที่ Fatima Studio และสิ่งที่เหลือ...ก็ถูกจัดการโดยทีมงานค่าย อัลบั้มนี้วางตลาดเมื่อ 6 ต.ค.2543 และผลก็เป็นไปตามคาด เนื่องจากทางวง ยังยืนยันสานต่อแนวจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ ซึ่งงานเข้าสู่ Progressive มากขึ้น ทั้งที่ยังมีโอกาสได้ทำมิวสิควิดีโอ ออนแอร์ทีวีครั้งแรกในชีวิต....แต่ไม่มีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกันใดๆ มีเพียงถูกบังคับให้ไปเดินสายสัมภาษณ์ทางวิทยุและนิตยสารต่างๆ

 
การทำงานในช่วงอัลบั้ม 5-6 สมบัติได้รวบการจัดการไว้ที่ตัวคนเดียว เรียกน้องๆไปช่วยเล่นให้เท่านั้น ทำให้เกิดปมจนต้องแยกย้ายกันไปตามทางของแต่ละคน และระหว่างนั้นก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆในนามวงอีกเลย ...พ.ศ. 2544-2556 12 ปีแห่งการว่างเว้น...
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้